วิธีดูพระหูยานลพบุรี (เบญจภาคีเนื้อชิน)

วิธีดูพระหูยานลพบุรี (เบญจภาคีเนื้อชิน)

'พระ หูยาน' เป็นพระเนื้อชิน มีทั้งชินตะกั่วและชินเงิน แต่ชินตะกั่วมีน้อยมาก โดยเฉพาะกรุวัดพระศรีมหาธาตุ ริมทางรถไฟ จ.ลพบุรี ศิลปะเป็นแบบอู่ทองคล้ายเขมรบายน มีขึ้นมากมายหลายที่ อาทิ กรุวัดปืน กรุวัดราชบูรณะหลังวัดพรหมมาส ลพบุรี กรุวัดราชบูรณะ กรุงศรีอยุธยา กรุสมอปรือ (วัดค้างคาว) เพชรบุรี สุพรรณบุรี และยังขึ้นแถวอำเภอสรรคบุรี ชัยนาท สิงห์บุรีอีกจำนวนหนึ่ง มีพิมพ์และอายุแตกต่างกันไป และยังคงพุทธลักษณะเดียวกันคือปลียอดพระเกศเป็นบัวตูมแย้มๆ ดูเห็นเป็นสองชั้น แล้วจึงถึงพระศกตั้งขึ้นเป็นแถวแบบผมหวี ก่อนถึงกรอบหน้าที่เป็นสี่เหลี่ยมแบบอู่ทอง พระโอษฐ์แบะ ทรงจีวรแนบเนื้อ ประทับนั่งปางมารวิชัยอยู่บนบัลลังก์ บัว และที่สำคัญอันเป็นที่มาของชื่อ คือพระ กรรณยาวจรดบ่าเลยเรียกว่า พระหูยาน

พระหูยาน วัดพระศรีมหาธาตุ ลพบุรี เนื่องจากเป็นเนื้อโลหะ เวลาเทคงจะใช้ผ้ากระสอบกดทับเพื่อให้ติดแม่พิมพ์ดีขึ้น ด้านหลังจึงเห็นเป็นรอยผ้ากระสอบ แต่หลังเรียบก็มี หลังตันก็มี หากมีน้อยมาก ส่วนพิมพ์นั้นมักจะแบ่งเป็น พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก เนื่องจากพระพักตร์ ดูเคร่งเครียด แสยะพระโอษฐ์จึงเรียกว่า 'หน้ายักษ์' ส่วนใหญ่จะพบในพิมพ์ใหญ่ ส่วนหน้ายิ้มหน่อยมักพบในพิมพ์กลางและเล็ก เรียก 'หน้ามงคล' หรือ 'หน้าหนุ่ม' ก็เรียก สำหรับบัวที่ประทับจะมีทั้งบัวชั้นเดียวและบัวสองชั้น

เนื่องจากสนนราคาของ 'พระหูยาน' แพงจนหูฉี่ การทำปลอมจึงมีมาตั้งแต่ชาติที่แล้ว คนเก่าๆ เคยเล่าให้ฟังว่าเคยไปเฝ้าอยู่หน้าปากหลุมตอนขุด ต้องรอให้องค์พระถูกอากาศแล้วเซ็ตตัวเสียก่อน ไม่งั้นจะเหลวๆ อ่อนไปอ่อนมา ได้กันมาคนละสององค์สามองค์ ก็เห็นอยู่ในรังใหญ่ๆ ระดับประเทศตอนนี้ คำบอกนี้เข้าใจว่าคงจะเป็นการแตกกรุในพ.ศ.2508 นับเป็นการแตกกรุครั้งที่สอง นิยมเรียกกันว่า "พระกรุใหม่" ซึ่งความจริงแล้วมีคนเข้าไปขโมยขุดกรุในวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2430 พบพระแถวๆ องค์พระปรางค์ประธาน รวมกับพระอื่นๆ เช่นพระพุทธรูป พระตรีกาย หลวงพ่อจุก พระเหวัชระ เป็นต้น แล้วในปีพ.ศ.2450 ก็มีผู้ว่าจ้างให้คนร้ายเข้าไปขโมยขุดอีก ได้พระไปจำนวนหนึ่งเลยเรียกพระที่พบช่วงแรกว่า "พระกรุเก่า"

จริงๆ แล้ว พระกรุเก่า กับกรุใหม่ เป็นพระที่มาจากแม่พิมพ์เดียวกัน มีวิธีแยกง่ายๆ คือ พระกรุเก่าจะมีเนื้อดำๆ คล้ำๆ ส่วนกรุใหม่ ผิวจะมีคราบปรอทขาวจั๊วจับอยู่ดูสดใสแวววาวกว่า ซึ่งมีข้อสังเกตเพิ่มเติมดังนี้

- ขอบพระแท้ต้องไม่กินมือ คือลูบแล้วไม่พบว่าคม แต่มีบ้างที่ทำปลอมตั้งแต่สมัยก่อน โดยเอาเหรียญสตางค์ที่ผสมดีบุกกับตะกั่วมาหลอมใหม่ ต้องใช้วิธีส่องให้ทั่วๆ บางองค์จะยังเห็นลายกนกของสตางค์อยู่ไรๆ แต่เนื้อเหมือนมาก

- ด้านหลังหากเป็นลายผ้ากระสอบ จะเป็นช่องห่างๆ ไม่ใช่ช่องถี่ๆ หลังเรียบก็มี หลังเป็นแอ่งน้อยๆ ก็มี และหลังตันก็มี

- ปลียอดพระเกศจะดูเหมือนบัวตูมกำลังแย้มบาน เส้นกลีบที่บานทแยงมาจากทั้งสองด้าน มองดูเป็นสองชั้น ก่อนถึงเม็ดพระศกมีเส้นกรอบหน้า

- พระนลาฏหรือหน้าผากนูนขึ้นมาเป็นรอยย่น รับกับพระขนงที่ติดกันเป็นปีกกา พระเนตรมองต่ำ ใต้พระเนตรมีรอยอูมคล้ายถุงใต้ตา มุมพระโอษฐ์แสยะเชิดรั้นขึ้น

- ในพิมพ์ใหญ่บริเวณผ้าสังฆาฏิเหนือพระอุระมีรอยทับของเส้นผ้าดูเป็นร่องเล็กๆ ลึกลงไปในเนื้อ เป็นเอกลักษณ์ของแม่พิมพ์

- ให้ดูรอบพระศอระยะต่ำลงมา มีลักษณะเหมือนเป็นสร้อยคอหรือกรองศอนูนขึ้นเล็กน้อย

- ในผนังซอกแขนซ้ายขององค์พระมีเส้นนูนขึ้นสองเส้นในแนวนอนเป็นจุดสำคัญ ส่วนซอกแขนด้านขวาขององค์พระบริเวณขอบจีวร (ใต้รักแร้) มีเส้นพาดเป็นรอยนูนขึ้นมา และทุกพิมพ์ที่บั้นเอวจะเห็นเส้นรัดประคตนูนขึ้นทางขวาโดยมีเส้นแซมเล็กๆ

- ปลายพระหัตถ์ขวามีเส้นเชื่อมกับบัวหงายกลีบแรก

- ฝ่าพระบาทขวาหงายแบเห็นนิ้วเท้า 5 นิ้ว มีเกสรบัวตั้งขึ้นก่อนเป็นบัวหงายเล็บช้าง ในพิมพ์ใหญ่บัวหงายกลีบที่สองนับจากซ้ายขององค์พระจะนูนออกมามากกว่ากลีบ อื่น ตรงกลางบัวมีจุดกลมเหมือนเม็ดไข่ปลาขนาดใหญ่

'พระหูยาน' นับเป็นพระเครื่ององค์สำคัญ จัดเป็นหนึ่งในเบญจภาคีเนื้อชิน ร่วมกับ พระร่วงหลังรางปืน พระมเหศวร พระท่ากระดาน และพระชินราชใบเสมา มีพุทธคุณทางความเข้มแข็งและเหนียวทำนองคงกระพันชาตรีครับผม

พันธุ์แท้พระเครื่อง


ราม วัชรประดิษฐ์

ความคิดเห็น