เปิดตำนาน หลวงพ่อยม พระศักดิ์สิทธิ์แห่งวัดตายม จ.พิษณุโลก

เปิดตำนาน หลวงพ่อยม พระศักดิ์สิทธิ์แห่งวัดตายม จ.พิษณุโลก



พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มงคลนามมหานิยม "หลวงพ่อยม" วัดตายม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก มีประวัติและตำนานความเชื่อเล่าขานกันมาจนถึงปัจจุบัน

พระเกจิอาจารย์นำแบบพิมพ์มาจัดสร้างเป็นวัตถุมงคลได้รับความนิยมอยู่หลายรุ่น และนอกจากนั้นก็ยังมีพระเก่า ซึ่งเป็นพระกรุอยู่ด้วย ที่นิยมเรียกว่า "กรุนาตายม"

อาทิ พระพิมพ์ท่ามะปราง เนื้อชินเงิน พระพิมพ์นาคปรก เนื้อชินเงิน และเนื้อดินกรุนาตายม เป็นสกุลพระกรุเมืองพิษณุโลก แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ดินแดนประวัติศาสตร์ ราชธานีสองแผ่นดิน ยอดนิยมอีกกรุหนึ่ง ที่มีพุทธคุณเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ และหาได้ยากยิ่งพิมพ์หนึ่ง

พบครั้งแรกในราว ปีพ.ศ.2510 ที่บริเวณ มูลดินกลางท้องนาใกล้ๆ "วัดตายม" ในปัจจุบัน คาดว่าเป็นวัดร้างสิ้นสภาพ ภายหลังประชาชนบุกเบิกแผ้วถางเป็นพื้นที่นาประกอบด้วย วัดป่ากล้วย และวัดป่าสัก ปรากฏซากเนินมูลดินขนาดใหญ่ พบเศษเครื่องถ้วยเก่าสุโขทัย เศษอิฐปูนสถาปัตยกรรมของโบราณสถานกระจายพบอยู่ทั่วไป จึงนิยมเรียกว่า "กรุนาตายม" และเป็นพุทธศิลป์สกุลพระพิมพ์นาคปรก กรุเดียวที่พบที่เมืองพิษณุโลก

สันนิษฐานว่าเดิมเป็นชุมชนโบราณ ริมคลองละคร หรือ "ลำตายม" ในอดีตเชื่อว่าบริเวณตำบลวัดตายม-เนินกุ่ม อำเภอบางกระ ทุ่ม เมืองพิษณุโลก เป็นชุมชนโบราณ มีอาณาบริเวณนับพันไร่ มีตัวเมือง หรือชุมชนโบราณอยู่ที่บริเวณบ้านคลองละคร เดิมเป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ มีคูเมืองมีกำแพงเมืองล้อมรอบ ปรากฏพบซากโบราณสถาน กระจายอยู่ทั่ว อาทิ ซากเนินฐานอิฐ และเศษปูนกลีบขนุนองค์พระปรางค์ขนาดใหญ่ มีซากฐานอุโบสถ วิหาร เจดีย์ ที่หักพัง ตลอดจนพระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องถ้วยชาม ลูกปัด ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มากมาย

นอกจากนี้ ยังมีวัดที่ตั้งเรียงรายอยู่ภายนอกเมืองอีกมากมาย เช่น วัดมหาธาตุ พบเจดีย์ธาตุขนาดใหญ่ ที่บ้านแหลมพระธาตุ (ปัจจุบันยังมีซากเจดีย์หลงเหลืออยู่และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดแหลมพระธาตุ) วัดสระเศรษฐี ที่บ้านทุ่งเศรษฐี, วัดสายสมัน ริมคลองละคร พบพระยืนขนาดใหญ่ ปัจจุบันถูกทำลายหมดแล้วเมื่อประมาณ ปีพ.ศ.2520 ใบเสมาหิน ชนวนโบราณขนาดใหญ่ พระพิมพ์มารวิชัยเนื้อชิน ปัจจุบันยังปรากฏซากฐานอิฐวิหารโบราณคงเหลืออยู่บ้างในบางส่วน

ต่อมา "หลวงพ่อจันทร์ เกสโร" ซึ่งเป็น ผู้เรืองอาคมมานับแต่เป็นฆราวาส และเป็นนักเลงหัวไม้ชื่อดังในย่านนั้น ไม่เคยมีเลือดตกยางออก เมื่อตีกันฟันกันในงานวัดเพราะถืออาคมขลัง ภายหลังอุปสมบทในราวปีพ.ศ.2500 โดยมี "พระครูรังสีธรรมประโพธ" หรือ "หลวงพ่อหรั่ง" วาจาศักดิ์สิทธิ์ วัดสามเรือน เจ้าคณะอำเภอบางกระทุ่ม เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้มาสร้าง วัดราษฎร์ศรัทธาราม หรือวัดเนินกุ่มเหนือ ขึ้นริมคลองวังชมพู หรือคลองวัดตายม หรือคลองเนินกุ่ม ซึ่งไหลมาจากเขาวังชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ไหลผ่านท่าหมื่นราม อ.วังทองมา วัดตายม เนินกุ่ม เข้าเขตพิจิตร ผ่านวัดยางคอยเกลือ ไปบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ใต้เมืองพิจิตร ไปเล็กน้อย

ได้ไปนำชิ้นส่วนโลหะที่มีอักขระขอมโบราณกำกับ ลักษณะคล้ายๆ กับแผ่นตะกรุดม้วนเป็นแกนสอดอยู่ในพระศอ (คอ) ของพระพุทธรูปยืนและพระพิมพ์ ที่พบที่วัดสายสมัน วัดร้างโบราณ นำมาบรรจุในพระอุระ (อก) พระพุทธรูปที่ปั้นปูนขึ้นมาใหม่ ปางมารวิชัย ศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในย่านนี้มากองค์หนึ่ง

บนบานศาลกล่าวสำเร็จสมปรารถนา นามว่า "หลวงพ่อสายสมัน"

ใน ราวปี พ.ศ.2514 หลวงพ่อจันทร์ เกสโร ได้จัดสร้าง "เหรียญเสมาหลวงพ่อสายสมันรุ่นแรก" หลังยันต์พระเจ้า 16 พระองค์ ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2516 เนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า โดยนิมนต์หลวงพ่อหรั่ง วัดสามเรือน ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระเกจิอาจารย์ดังของเมืองพิษณุโลก มาปลุกเสก พร้อมหลวงพ่อจันทร์ ปลุกเสกเดี่ยวต่อจึงนำออกให้บูชาเมื่อปีพ.ศ.2517 จึงมีพุทธคุณและประสบการณ์สูงเป็นที่หวงแหนของคนในท้องถิ่นเป็นยิ่งนัก

ภายหลังได้มีการจัดสร้างเหรียญเสมารุ่น 2 ด้านหน้าหลวงพ่อสายสมัน ด้านหลังหลวงปู่จันทร์ เกสโร ในปีพ.ศ.2528 และมีการจัดพระบูชาหลวงพ่อสายสมัน และพระกริ่ง รุ่นแรก ในปีพ.ศ.2541 ก็ได้รับความนิยมหมดไปจากวัดในเวลาอันรวดเร็ว และจัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อสายสมัน ออกมาในกาลต่อมาอีกหลายรุ่นจนปัจจุบัน

โบราณสถานอีกแห่งหนึ่งคือ "วัดตายม" อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ซึ่งพบองค์พระพุทธรูปปูนปั้น พุทธศิลป์สุโขทัย ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงพ่อยม" และซากเจดีย์ ซากวิหารต่างๆ มากมาย ตลอดจนลักลอบขุดโบราณสถานวัดตายมในราวปีพ.ศ.2510 จึงพบพระเครื่อง พระบูชาโดยเฉพาะพระพิมพ์ ท่ามะปราง พระพิมพ์นาคปรก กรุนาตายม ซึ่งจะหาพระที่มีสภาพสมบูรณ์สวยงามได้ยาก เนื่องจากเนื้อจะระเบิดชำรุดในบางส่วนเสียเป็นส่วนใหญ่ ภายหลังน้ำได้เปลี่ยนเดินห่างไกลชุมชนออกไป จึงมีการอพยพเคลื่อนย้ายไปสู่แหล่งที่สมบูรณ์กว่า ชุมชนโบราณวัดตายม จึงบางเบาเล็กลงและรกร้างมายาวนาน

ในบริเวณชุมชนโบราณดังกล่าว เป็นที่ตั้งของ วัดเนินกุ่มใต้ ต.เนินกุ่ม ซึ่งอยู่ติดกับ ต.วัดตายม มีคลองวัดชมพู ไหลผ่าน ซึ่งอดีต พระเกจิอาจารย์ชื่อดังท่านนี้เป็นผู้สร้าง "พระครูสังคกิจ" หรือ "หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ ปั้น" วัดพิกุลโสคัณธ์ ต.พระขาว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

ท่านเกิดเมื่อปีพ.ศ.2376 สมัยรัชกาลที่ 2 อุปสมบท พ.ศ.2396 แล้วไปศึกษาที่กรุงเทพฯ กับพระมหาแดง สีลวัฑฒโน วัดสุทัศเทพวราราม (ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต) และพระก๋ง วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ (ภายหลัง เปลี่ยนชื่อเป็น ฑิต อุทโย และได้สมณศักดิ์สูงสุดที่ สมเด็จพระวันรัต) แล้วได้กลับมาเป็น เจ้าอาวาสปกครองบูรณะวัดพิกุลโสคัณธ์ แล้วจึงออกธุดงค์พร้อมพระอนุจรเป็นนิจและธุดงค์ผ่านวัดสี่ร้อย อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ขึ้นมาทางชัยนาท ตัดเข้าบางคลาน (ภายหลังเปลี่ยนเป็น อ.โพทะเล พ.ศ.2481) ผ่านพิจิตร มาปักกลดที่ป่าบ้านดงหมี ต.เนินกุ่ม แต่เดิมป่ารกมีสัตว์ดุร้ายชุกชุมมาก โดยเฉพาะหมีควายและเสือโคร่ง

ชาวบ้านจึงไปเรียนท่านว่า บริเวณนี้เวลากลางคืนพวกเสือมักออกหาอาหาร เนื่องจากเป็นที่เนินสูงกว่าที่อื่นน้ำท่วมไม่ถึง จึงมีสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือหลบมาอาศัย แต่ท่านปฏิเสธ เพราะถือปฏิบัติตามครูท่านสั่งห้ามไว้ว่า ถ้าปักกลดตรงไหนต้องอยู่ไปจนตลอดรุ่ง
รูปหล่อหลวงพ่อปั้น

รุ่งขึ้นตอนสางชาวบ้านรีบไปดูท่านปักกลด เพราะได้ยินเสียงคำรามร้องของเสือตั้งหลายตัวดังก้องไปถึงหมู่บ้าน เมื่อมาถึงพบท่านอยู่ปกติดีไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้นกับท่านเลย จึงเชื่อว่าท่านมีวิชาดี ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านไม่มีอะไรดี อาศัยคุณพระรัตนตรัย และส่งกระแสจิตแผ่เมตตาให้พวกเสือจึงเข้าป่า มีแต่ไอ้ตัวใหญ่ดูเหมือนจะเป็นจ่าฝูงเท่านั้น ที่นอนหมอบอยู่ข้างกลดอาตมา พึ่งจะเข้าป่าไปตอนใกล้รุ่งก่อนโยมมาถึงนี้เอง และได้โอกาสสั่งสอนข้อธรรมแก่ชาวบ้าน

หรือในครั้งหนึ่งมีไฟป่าลุกลามไหม้เข้ามาล้อมกลดที่หลวงพ่อปั้นนั่งภาวนาสงบ นิ่งอยู่ และจู่ๆ ก็มีลมพัดไฟป่าให้ลุกลามไปทางอื่นเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก จึงนิมนต์ท่านสร้างวัดเนินกุ่ม ขึ้น จนแล้วเสร็จเป็นอารามใหญ่ด้วยบุญญาบารมีของท่าน ซึ่งมีวาจาศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง

โดยเฉพาะอุโบสถ หลวงพ่อปั้นได้ลงมือปั้นหลวงพ่อโต พระประธานประจำอุโบสถด้วยมือของท่านเอง จึงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประจำวัดเนินกุ่ม แล้วท่านก็กลับสู่วัดพิกุล จ.พระนครศรีอยุธยา และไปมาระหว่างวัดพิกุลกับวัดเนินกุ่ม จนเป็นธรรมเนียมในหมู่ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดว่า ก่อนเข้าพรรษา ชาวบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา จะเป็นฝ่ายมารับหลวงพ่อปั้น กลับไปจำพรรษาที่วัดพิกุล หลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐิน ชาวเนินกุ่มจะลงไปรับหลวงพ่อปั้น โดยใช้เรือมาด 8 แจว เป็นพาหนะ เนื่องสมัยนั้นการสัญจรทางน้ำสะดวกรวดเร็วที่สุด

หลวงพ่อปั้นจึงเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป ทั้งสองจังหวัดเป็นยิ่งนัก

คอลัมน์ มุมพระเก่า

ความคิดเห็น