เหรียญพระประจำวัน วัตถุมงคลดัง-หลวงปู่บุญยัง วัดบางจาก จ.นนทบุรี

เหรียญพระประจำวัน วัตถุมงคลดัง-หลวงปู่บุญยัง วัดบางจาก จ.นนทบุรี



ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน "เมือง นนทบุรี" มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจำพรรษาอยู่ตามวัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก รูปหนึ่งที่ถูกกล่าวขวัญถึง นั่นก็คือ "หลวงปู่บุญยัง จันทสาโร" วัดบางจาก บ้านลำพูลาย ต.คลองพระอุดม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ปัจจุบันวัตถุมงคลประเภทพระเครื่องและเครื่องรางของขลังของท่านโด่งดังมาก โดยเฉพาะ "เหรียญพระปางประจำวัน" และ "ตะกรุดเป่าแล่น"

วัดบางจาก ตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2365 แต่เดิมตั้งอยู่ที่ปากคลองบางภูมิ ต.บางพลับ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นวัดร้างที่มีชุมชนคนมอญอาศัยอยู่

ต่อมาได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานยังชุมชนบ้านลำพูลาย อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเดิมทีมีต้นลำพูขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ชุมชนคนมอญที่ได้ย้ายตามมาบางส่วน เกิดความอาลัยคิดถึงบ้านบางภูมิ จึงได้เรียกชื่อวัดเป็นภาษามอญว่า "เพี้ยะบางภูมิ" ซึ่งแปลว่า "จากบางภูมิมา" จึงเป็นที่มาของชื่อ "วัดบางจาก" ที่มีความหมายว่า จากบางภูมิมา (มิใช่มีต้นจากขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากแต่อย่างใด)

ปัจจุบันวัดบางจาก ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 75 บ้านลำพูลาย ถ.ชัยพฤกษ์ หมู่ 1 ต.คลองพระอุดม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานพระราชวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2466 ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา

มีอาณาเขต ดังนี้ ทิศเหนือจรดที่ดินเอกชน ทิศใต้จรดแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกจรดที่ดินเอกชน ทิศตะวันตกจรดที่ดินเอกชน

การบริหารและการปกครอง วัดบางจากมีเจ้าอาวาส เท่าที่ปรากฏนามบันทึกไว้ ดังนี้ 1.พระไตรสรณธัช (แสน โกลิโต) ปีพ.ศ.2457-2475 2.พระปลัดบุญยัง จันทสาโร ปีพ.ศ.2475-2503 3.พระครูเกษมจริยาภิรม ปีพ.ศ.2520-2540 4.พระครูกิตตินนทคุณ ปีพ.ศ.2541-ปัจจุบัน

เมื่อปีพ.ศ.2553 "พระครูกิตติ นนทคุณ" เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้ยกพระอุโบสถ จึงได้พบพระพุทธรูปโบราณใต้ฐานชุกชี เป็นหลวงพ่อหนุนดวง-หลวงพ่อค้ำดวง ผู้คนได้พากันไปลอดพระอุโบสถโบราณ เพื่อเสริมสิริมงคล ขอพรให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากโศก ปราศจากโรค ปราศจากภัย ไร้เคราะห์ มีแต่ความสุขความเจริญ ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ และธนสารสมบัติทุกประการ
เหรียญประจำวันจันทร์

อัตโนประวัติ หลวงปู่บุญยัง จันทสาโร ท่านเกิดเมื่อปีพ.ศ.2427 มีโยมมารดาเป็นชาวบ้านลำพูลาย อาศัยอยู่ในสวนข้างวัดบางจากและได้อุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปี ณ วัดบางจาก ต.คลองพระอุดม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งมี พระคุณาวงศ์ (สน นาคสนโท) วัดปรมัยยิกาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสุเมธมุนี วัดบ่อ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา "จันทสาโร"

หลังบวชแล้ว ตัวท่านพร้อมด้วย พระไตรสรณธัช (แสน โกลิโต) และพระปลัดอั้น พุทธวังโส ได้ออกธุดงค์และเดินทางไปศึกษาวิชาที่ประเทศพม่า โดยพระทั้ง 3 รูป ได้เรียนวิชาด้านต่างๆ ดังนี้

พระปลัดบุญยัง จันทสาโร ได้ศึกษาศาสตร์ทางด้านสาลิกาลิ้นทอง ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางจาก รูปที่ 2 พระไตรสรณธัช (แสน โกลิโต) ได้ศึกษาศาสตร์ทางด้านภาษาบาลี ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางจากรูปแรก และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ในกาลต่อมา

พระปลัดอั้น พุทธวังโส ได้ศึกษาศาสตร์ทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสนามเหนือ ต.เกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

ท่านเป็นพระที่มีความกตัญญูรู้คุณ เวลาที่ท่านบิณฑบาตเสร็จแล้วจะนำข้าวและอาหาร ส่วนหนึ่งไปให้มารดาของท่านทุกวัน มรณกาลของท่านเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2503 และได้ฌาปนกิจศพ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2504 เวลา 17.00 น. สิริอายุ 76 ปี พรรษา 56

หลวง ปู่บุญยัง วัดบางจาก บ้านลำพูลาย ต.คลองพระอุดม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีเมตตาสูง ซึ่งประวัติของท่านจากคำบอกเล่าของศิษย์ใกล้ชิด นายจาบ หอมเตย (ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่) ว่าในตอนที่ยังเป็นเด็ก สมัยที่หลวงปู่บุญยัง ท่านยังดำรงขันธ์อยู่นั้น ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติ มีเมตตาธรรมและวาจาสิทธิ์ จึงเป็นที่เคารพของชาวบ้านและคนใกล้เคียง

"มีอยู่ครั้งหนึ่งได้มีฝูงอีกามาเกาะบริเวณสวนข้างวัดบางจาก ซึ่งได้มีจ่าฝูงตัวใหญ่สีดำตัวหนึ่งบินมาเกาะที่ตักหลวงปู่บุญยัง ในช่วงเวลาที่ท่านฉันอาหารเช้าและฉันอาหารเพลของทุกวัน ซึ่งชาวบ้านทราบดีว่าเป็นอีกาที่ท่านเลี้ยงไว้ จึงไม่มีใครกล้าทำอันตรายอีกาฝูงนี้ แต่ได้มีชายคนหนึ่ง ชื่อนายแสน ซึ่งอาศัยอยู่หน้าวัดบางจาก เกิดความคึกคะนอง จึงได้ใช้ปืนแก๊ปยิงอีกาจ่าฝูงตัวที่ท่านเลี้ยงไว้และมันได้บินมาตายตรง หน้าตักหลวงปู่บุญยัง ทำให้ท่านมีความเวทนาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้กล่าวว่า "คนที่ทำกับเจ้าก็จะตายอย่างเจ้า" ไม่นานนายแสนก็ถูกนายวน คลองข่อย ยิงตายดังวาจาสิทธิ์ที่หลวงปู่บุญยังได้กล่าวไว้

หลวงปู่บุญยังเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่มีกิจนิมนต์พิธีพุทธาภิเษกวัตถุ มงคลชุกมากรูปหนึ่ง ท่านได้รับนิมนต์ให้ไปอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคลพิธีใหญ่ๆ นับไม่ถ้วน อาทิ พิธีจัดสร้างพระพุทธ 25 ศตวรรษ (พุทธมณฑล) ปีพ.ศ.2500, พิธีจัดสร้างพระรอดเสาร์ห้า วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ปีพ.ศ.2496, พิธีจัดสร้างพระเนื้อผงวัด สุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร ปีพ.ศ.2496

นอกจากนี้ ท่านยังได้รับนิมนต์ให้ร่วมพิธีจัดสร้างเหรียญเสมาและรูปเหมือนของหลวงปู่ เอี่ยม ปฐมนาม และพระครูโสภณศาสนกิจ หรือหลวงปู่กลิ่น จันทรังสี แห่งวัดสะพานสูง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมจากนักสะสม อย่างมาก

วัตถุมงคลที่หลวงปู่บุญยังได้จัดสร้างและอธิษฐานจิตปลุกเสกไว้ และนำ ออกแจกจ่ายที่วัดบาง จาก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสิ่งมงคลที่หายาก และสนนราคาเล่นหาสูง อย่างเช่นนางกวัก ซึ่งได้ จัดทำหลังจากหลวงปู่บุญยังกลับมาจากเมืองมอญ และมาจำพรรษาที่วัดบางจาก แบ่งเป็น 2 ยุค

ยุคแรกทำจากวัสดุใน ท้องถิ่น ได้แก่ ไม้มะยม รากไม้รัก และกะลา โดยได้นำมาแกะเป็นรูปนางกวัก ฝีมือชาวบ้าน ซึ่งมีทั้งแบบฝังตะกรุดสาลิกา และแบบไม่ฝังตะกรุด ส่วนยุคหลังทำจากงาช้างแกะเป็นรูปนางกวัก ฝังตะกรุดสาลิกาโดยรอบองค์พระ มีทั้งแบบ 3 ดอก 6 ดอก 16 ดอก และ 21 ดอก แตกต่างกันไป ซึ่งแกะโดยนายแพทย์สุเอ็ด คชเสนี ลูกศิษย์ก้นกุฏิของท่านนั่นเอง

หากผู้ใดได้รับนางกวักจากหลวงปู่บุญยังไปแล้ว เกิดทำนางกวักหายก็สามารถไปรับคืนได้ที่ท่าน หรือที่วัดได้ จากคำบอกเล่าของนางดวง (ล้วง) ซึ่งได้รับนางกวักงาแกะฝังตะกรุดสาลิกา 6 ดอก ที่รับมาจากท่านหายไป จึงได้ไปกราบท่านแล้วบอกว่าได้ทำนางกวักของท่านตกหาย ซึ่งท่านได้แบมือออกแล้วกล่าวว่า "อยู่นี่ไง" แล้วกล่าวต่อไปว่า หากรับของขลังจากท่านไปแล้ว ขอให้ประพฤติตัวให้ดี อย่าไปในที่ไม่สมควรไป หรือที่ อโคจร หรือประพฤติตัวผิดศีลธรรมมิฉะนั้นของขลังที่มอบให้จะไม่อยู่คุ้มครองตัว

สําหรับเครื่องรางของขลังประเภท "ตะกรุด" หลวงปู่บุญ วัดบางจาก บ้านลำพูลาย ตำบลคลองพระอุดม อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จัดสร้างเมื่อครั้งท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางจาก ยุคแรกจะทำจากแผ่นเนื้อทองแดง ทองเหลือง และเนื้อเงิน นำมาม้วนประมาณ 3-4 รอบ รู ตะกรุดค่อนข้างโต มีความยาวต่างกันไป ตั้งแต่ 1-5 นิ้ว

ส่วนยุคหลัง จัดทำเป็น "ตะกรุดเป่าแล่น" ซึ่งนามนี้เป็นมงคล พุทธคุณในเรื่องความสำเร็จและโชคลาภ เลยทำให้กลายเป็นของหายากและสนนราคาเล่นหาสูง

วัสดุที่ทำใช้ท่อเหล็กยาวคล้ายก้านร่ม เป่ากับตะเกียงลาน เพื่อให้ตะกั่วสมานกับรอยต่อตะเข็บให้เป็นเนื้อเดียวกัน ในระยะแรกเชื่อมรอยต่อของตะกรุดแผ่นทองแดง หรือแผ่นทองเหลือง ที่ม้วนให้เป็นเนื้อเดียวกัน ยุคต่อมาใช้แผ่นนาก แผ่นเงิน และแผ่นทอง ห่อหุ้มตะกรุดทองแดงที่ม้วน 3-4 รอบ ไว้อีกชั้นหนึ่ง มีความยาวต่างกันไปตั้งแต่ 1 นิ้ว ถึง 3.5 นิ้ว หลวงปู่บุญยังจะเป็นผู้เป่ามนต์คาถาด้วยตัวท่านเอง

จากคำบอกเล่าของพระครูกิตติ นนทคุณ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน กล่าวว่า เมื่อปี 2554 เสาหงส์หน้าโบสถ์จำนวน 2 ต้น ด้านขวาของโบสถ์ได้ใส่ตะกรุดเงินเป่าแล่นขนาน 3 นิ้ว ซึ่งได้รับมอบจาก "ถวิล ทวีกูล" ด้านซ้ายของโบสถ์เป็นตะกรุดทองแดงขนาด 3 นิ้ว ซึ่งได้รับมอบจาก "จาบ หอมเตย" ใส่ไว้ในยอดเสาหงส์ เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา และระลึกถึงหลวงปู่บุญยังที่มีคุณูปการต่อวัดบางจากและพระพุทธศาสนาอย่างมาก มาย

"เหรียญพระประจำวัน" สร้างเมื่อประมาณปีพ.ศ.2487 ครั้งนั้นได้มีคณะลูกศิษย์ร่วมกันสร้างถวายให้ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสก โดยเป็นเหรียญรูปพระประจำวัน เนื้อกะไหล่ทอง สร้างครบถ้วนทั้ง 7 วัน ด้านหลังเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงปู่บุญยังครึ่งองค์ เขียนคำว่า "หลวงพ่อบุญยังวัดบางจาก ปากเกร็ด"

นางสมนึก อ้นแสง (ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่) บอกเล่าว่า ราวปีพ.ศ.2488 สมัยเป็นเด็กเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดบางจาก ชั้นป.3 หลวงปู่บุญยังได้นำเหรียญมาแจกให้กับนักเรียนทุกคน ซึ่งตอนนั้นโรงเรียนวัดบางจาก จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นประถม 1-4 มีนักเรียนอยู่ประมาณ 60 คน อาคารเรียนตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถวัดบางจาก ปัจจุบันโรงเรียนวัดบางจากได้ย้ายไปตั้งยังสถานที่แห่งใหม่ ณ บริเวณวัดเสาธงทอง ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ชื่อโรงเรียนวัดเสาธงทอง

รูปลักษณ์เหรียญพระประจำวันอาทิตย์ "ปางถวายเนตร" เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ระหว่างพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมพระหัตถ์ซ้าย อยู่ในพระอาการสังวรทอดพระ เนตรดูต้นพระศรีมหาโพธิ

ประวัติย่อ...เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จึงประทับยับยั้งเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ร่มโพธิ์เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงเสด็จออกไปจากภายใต้ร่มโพธิ์ไปประทับยืนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียง เหนือ (อีสาน) ทอดพระเนตรพระศรีมหาโพธิ โดยไม่กะพริบพระเนตรเป็นเวลา 7 วัน เพื่อรำลึกถึงคุณประโยชน์ของต้นมหาโพธิ์ที่แผ่กิ่งก้านประทานร่มเงา ให้ความชุ่มเย็น เป็นการอำนวยช่วยพระองค์จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอาทิตย์ "อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะคุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะ ธัมเม, เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พึทธานัง นะมัตถุ โพธิยา, นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมังโส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสะนา"

สวด วันละ 6 จบ จะมีความรุ่งเรืองและความสุขสวัสดีตลอดกาล ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ พึงใช้สีที่เป็นมงคลสำหรับเครื่องนุ่งห่ม ประจำบ้านเรือน หรือเครื่องประดับตัวเป็นของที่มีสีแดง จะเป็นสิริมงคลลาภผล ดียิ่งนัก ส่วนสีรองๆ ลงไป มีสีม่วง สีเขียว สีเทา สีเมฆหมอก สีดอกรัก พึงเว้น สีน้ำเงิน

พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง "หลวงปู่บุญยัง จันทสาโร" อดีตเจ้าอาวาสวัดบางจาก บ้านลำพูลาย ตำบลคลองพระอุดม อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สร้างเหรียญยอดนิยมพระประจำวัน รูปลักษณ์เหรียญพระประจำวันจันทร์ "ปางห้ามสมุทร" เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองแบตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้าเสมอพระอุระ (อก) เป็นกิริยาห้าม บางแบบเป็นพระทรงเครื่อง (บางตำราใช้พระปางห้ามพยาธิเป็นพระประจำวันจันทร์)

"ปางห้ามญาติ" เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม เป็นปางเดียวกันกับปางห้ามสมุทร นิยมทำเป็นแบบพระทรงเครื่อง

สำหรับประวัติย่อนั้น ครั้งหนึ่งได้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ขึ้นในเมืองไพศาลี มีประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก กษัตริย์ลิจฉวี เจ้าผู้ครองเมืองจึงได้กราบบังคมทูลอาราธนาพระพุทธองค์ ให้เสด็จมาโปรดชาวเมือง พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอานนท์ เจริญรัตนสูตรและประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระนคร จนต่อมาภายหลังโรคร้ายก็หายสิ้นจากพระนครด้วยพุทธานุภาพ

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันจันทร์ "ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะโย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง พุทธานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ

ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะโย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง ธัมมานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ

ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะโย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง สังฆานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ"

สวดวันละ 15 จบ จะมีความสุข ความเจริญปราศจากโรคาพยาธิทั้งปวง ผู้ที่เกิดวันจันทร์ ควรใช้ของประดับตัวและบ้านเรือน เป็นสีขาว เหลือง อ่อนๆ เป็นดีที่สุด ส่วนสีรองๆ ลงมา คือสีเขียว สีดำ สีกรมท่า สีน้ำเงิน พึงเว้นสีแดง

รูปลักษณ์เหรียญพระประจำวันอังคาร "ปางโปรดอสุรินทราหู" (ปางไสยาสน์) เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ (รักแร้)

ประวัติย่อ...สมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ วัดเชตวัน ในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นอสุรินทราหูจอมอสูร ซึ่งสำคัญว่ามีร่างใหญ่โตกว่าพระพุทธเจ้า จึงไม่ยอมแสดงความอ่อนน้อม พระพุทธองค์ทรงประสงค์จะลดทิฐิของอสูร จึงทรงเนรมิตกายให้ใหญ่โตกว่าจอมอสูร จอมอสูรจึงละทิฐิยอมอ่อนน้อมต่อพระพุทธองค์

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอังคาร "ยัสสานุสสะระเณนาปิ อันตะลิก เขปิ ปาณิโน ปะติฏฐะมะธิ คัจฉันติ ภูมิยัง วิยะ สัพพะทา สัพพูปัททะวะชาลัมหา ยักขะโจราทิ สัมภะวา คะณะนานะ จะ มุตตานัง ปะริตตันตัมภะณามะเห" ผู้ที่เกิดวันอังคาร ควรใช้ของประดับตัวและบ้านเรือนเป็นสีชมพู หรือ สีแดงหลัว ส่วนสีรองๆ ลงมาคือ สีดำ สีกรมท่า สีน้ำเงินแก่ สีเหลือง สีแดง พึงเว้นสีขาวนวล

รูปลักษณ์เหรียญพระประจำวันพุธ (กลางวัน) "ปางอุ้มบาตร" เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรราวสะเอว

สำหรับประวัติย่อนั้น ครั้งหนึ่งหลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเวสสันดรชาดก โปรดพระพุทธบิดาและหมู่พระญาติทั้งหลาย บรรดาพระประยูรญาติต่างมีความแช่มชื่นโสมนัส จนลืมกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้มารับภัตตาหารเช้าในพระราชวัง ดังนั้นวันรุ่งขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเสด็จออกรับบิณฑบาตจากประชาชนทั่วไปในกรุงกบิลพัสดุ์

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพุธ (กลางวัน) "สัพพาสีวิสะชาตีนัง ทิพพะมันตาคะทัง วิยะ ยันนาเสติ วิสังโฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณินัง สัพพะโสปิ นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะเห"

สวดวันละ 17 จบ จะมีความสุขสวัสดียิ่งๆ ขึ้นไป ผู้ที่เกิดวันพุธควรใช้ของประดับตัวและบ้านเรือนเป็นสีเขียว หรือสีเขียวใบไม้ ส่วนสีรองๆ ลงมา คือ สีเหลือง สีเทา สีดอกรัก สีเมฆหมอก สีขาวนวล พึงเว้น สีม่วง

พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง "หลวงปู่บุญยัง จันทสาโร" อดีตเจ้าอาวาสวัดบางจาก บ้านลำพูลาย ตำบลคลองพระอุดม อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สร้างเหรียญยอดนิยมพระประจำวัน รูปลักษณ์เหรียญพระประจำวันพุธ (กลางคืน) ปางปาลิไลยก์ (พระประจำวันพุธกลางคืน) เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) บนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงาย นิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย

ประวัติย่อนั้น ครั้งหนึ่งพระภิกษุในวัดโฆสิตาราม เมืองโกสัมพีทะเลาะกันด้วยเรื่องพระวินัย พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้สามัคคีกันเท่าไหร่ก็ไม่ยอมเชื่อ เพราะต่างฝ่ายต่างยึดถือในความคิดของตนเป็นใหญ่ พระพุทธองค์ทรงระอาพระทัยจึงเสด็จหนีไปจำพรรษาอยู่ในป่ารักขิตวัน แถบหมู่บ้านปาลิเลยยกะ ณ ที่นั่นมีช้างชื่อปาลิเลยยะและลิงตัวหนึ่งคอยอุปัฏฐากอยู่

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพุธ (กลางคืน) "ยัสสานุภาเวนะ ยักขา เนวะ ทัสเสนะติ ภิงสะนัง ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโต สุขัง สุปะติ สุตโตจะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห"

หรือบทสวด "กินนุ สันตะระมาโนวะ ราหุ จันทัง ปะมุญจะสิ สังวิคคะรูโป อาคัมมะ กินนุ ภีโต ติฏฐะสีติ สัตตะธา เม ผะเล มุทธา ชีวันโต นะ สุขัง ละเภ พุทธาคาถาภิคิโตมหิ โนเจ มุญเจยะ จันทิมันติ"

สวดวันละ 12 จบ จะมีความเจริญสุขสวัสดี ผู้ที่เกิดวันราหู หรือวันพุธกลางคืนนี้ ควรใช้ของประดับตัวและบ้านเรือนเป็นสีเมฆหมอก สีเทา หรือสีดำหลัว ส่วนสีรองๆ ลงมา คือ สีแดง สีขาวนวล สีกรมท่า สีน้ำเงินแก่ พึงเว้นสีเหลือง

รูปลักษณ์เหรียญพระประจำวันพฤหัสฯ "ปางสมาธิหรือปางตรัสรู้" เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย

ประวัติย่อนั้น หลังจากที่พระมหาบุรุษได้กำราบพญามารลงได้แล้ว พระองค์จึงได้ตั้งพระทัยเจริญสมาธิจนได้ญาณขั้นต่างๆ และในที่สุดก็ได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาเช้าตรู่ของวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วันวิสาขบูชา)

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพฤหัสบดี "อัตถิโลเก สีละคุโณ สัจจังโสเจยยะ นุททะยา เตนะ สัจเจนะ กาหามิ สัจจะกิริยะมะนุตตะรัง อาวัชชิตวา ธัมมัพะลัง สะริตวา ปุพพะเก ชิเน สัจจะพะละมะสายะ สัจจะกิริยะมะกาสะหัง สันติ ปักขา อะปัตตะนา สันติ ปาทา อะวัญจะนา มาตาปิตา จะนิกขันตา ชาตะเวทะ ปฏิกกะมะ สะหะ สัจเจกะเต มัยหัง มะหาปัชชะลิโต สิขี วัชเชสิ โสฬะสะ กะรีสานิ อุทะกัง ปัตวา ยะถา สิขี สัจเจนะ เม สะโม นัตถิ เอสา เม สัจจะปาระมีติ"

สวดวันละ 19 จบ จะมีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี พึงใช้เครื่องประดับและบ้านเรือนเป็นสีเหลือง หรือสีไพล ส่วนสีรองลงมาคือ สีน้ำเงิน สีแดง สีเขียว พึงเว้น สีดำ สีกรมท่า และสีน้ำเงินแก่

รูปลักษณ์เหรียญพระประจำวันศุกร์ "ปางรำพึง" เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย

ประวัติย่อ หลังจากที่ตรัสรู้ได้ไม่นาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่ภายใต้ต้นไทร (อชปาลนโครธ) ก็ได้ทรงรำพึงถึงธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นว่าเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งยากแก่ การเข้าใจ จึงทรงรู้สึกอ่อนพระทัยในการที่จะนำออกแสดงโปรดสัตว์ แต่เพราะพระมหากรุณาคุณของพระองค์ ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าสรรพสัตว์มีภูมิต่างกัน จึงทรงพระดำริที่จะแสดงธรรม ตามภูมิชั้นแห่งปัญญาสรรพสัตว์นั้นๆ

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันศุกร์ "อัปปะสันเนติ นาถัสสะ สาสะเน สาธุสัมมะเต อะมะนุสเสหิ สะทา กิพพิสะการิภิ ปะริสานัญจะตัสสันนะ มะหิงสายะจะคุตติยา ยันเทเสสิ มะหาวีโร ปะริตตันตัมภะณามะ เห"

สวดวันละ 21 จบ จะมีความสุขสวัสดีตลอดกาลนานผู้ที่เกิดวันศุกร์ พึงใช้เครื่องประดับและบ้านเรือนเป็นสีฟ้า หรือสีน้ำเงินแก่ ส่วนสีรองลงมาคือ สีขาวนวล สีม่วง สีเหลือง พึงเว้นสีเทา สีเมฆหมอก สีดอกรัก

พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง "หลวงปู่บุญยัง จันท สาโร" อดีตเจ้าอาวาสวัดบางจาก บ้านลำพูลาย ต.คลองพระอุดม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี รูปลักษณ์เหรียญพระประจำวันเสาร์ "ปางนาคปรก" เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขนดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือ พระเศียร

ประวัติย่อ...ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้น จิก (มุจลินท์) บังเอิญในช่วงนั้นมีฝนตกพรำๆ ตลอด 7 วัน พระยานาคมุจลินท์ได้เลื้อยมาทำขนดล้อมพระวรกายของพระพุทธองค์ 7 ชั้น แล้วแผ่พังพานปกไว้ในเบื้องบนเหมือนกั้นฉัตร ด้วยประสงค์จะกำบังลมฝนมิให้ต้องพระวรกาย

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันเสาร์ "ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต, นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตาฯ เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ"

สวดวันละ 10 จบ จะมีความสุขความเจริญและเกิดความสวัสดีมีมงคลตลอดกาลนาน ผู้ที่เกิดวันเสาร์พึงใช้เครื่องประดับและบ้านเรือนเป็นสีดำหลัว หรือสีม่วง ส่วนสีรองๆ ลงมา คือ สีเทา สีเมฆหมอก สีดอกรัก สีน้ำเงิน พึงเว้นสีเขียว

"ภาพถ่ายอัดกระจกและภาพถ่ายขนานห้อยคอ" ด้านหลังลงยันต์สี่มุม ลงอักขระ นะ มะ อะ อุ มักจะลงด้วยดินสอ จากการบอกเล่าของนายจาบ ว่าช่วงที่ได้ปรนนิบัติ

หลวงปู่บุญยัง ในเวลากลางคืน ท่านได้นำดินสอมาเขียนลงในกระดาษเป็นรูปวงกลมเล็กๆ 4 มุม ลากเส้นวนไปวนมาระหว่าง 4 มุม และได้ตักเตือนไม่ให้ไปวิ่งเล่นบริเวณอาคารเรียนในเวลาพลบค่ำ เนื่องจากว่ามีผีเล่นลิงจับหลักสี่มุมของเสาอาคารเรียน ตามที่ได้เขียนไว้บนกระดาษ จึงน่าจะเป็นที่มาของการเขียนวงกลมเล็กๆ 4 มุม และลงอักขระไว้ในภาพถ่ายของท่าน แล้วแจกเด็กๆ ไว้ใช้ป้องกันอันตรายจากภูตผีปีศาจและภัยอันตรายต่างๆ

สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ "กำนันสมควร จารุศังข์" อดีตกำนันตำบลคลองพระอุดม ว่าสมัยก่อนบริเวณวัดบางจากมีสภาพเป็นป่าพงรกชัฏ การคมนาคมเดินทางยากลำบากสามารถเดินทางโดยทางเรือเพียงทางเดียว เป็นสถานที่เงียบสงบเหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม ซึ่งได้มีพระจากเมืองมอญหลายรูปเดินทางมาปลีกวิเวกและปฏิบัติธรรมที่นี่

"เหรียญรูปไข่รมดำ" สร้างปีพ.ศ.2503 รุ่นนี้ได้มีลูกศิษย์ชื่อนายเทียบ สุวรรณปิณฑะ นางดวง (ล้วง) สิ่งคงสิน นางเซาะฮุ้น ปิ่นสวัสดิ์ และคณะเป็นผู้สร้างถวายท่านอธิษฐานจิตปลุกเสก และเป็นช่วงระหว่างที่ท่านอาพาธ ซึ่งนับว่าเป็นวัตถุมงคลชิ้นสุดท้ายที่หลวงปู่บุญยังอธิษฐานจิต

หลังจากนั้นปีพ.ศ.2513 พระครูใบฎีกาพร้อม อดีตเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ได้ดำเนินการจัดสร้างรูปเหมือนหลวงปู่บุญยังเพื่อให้ประชาชนได้สักการะและ ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน ในการนี้ได้จัดสร้างรูปหล่อลอยองค์และเหรียญรูปไข่ทองแดงไม่รมดำ พร้อมทั้งได้อธิษฐานจิตปลุกเสก และแจกจ่ายให้ประชาชนที่ไปร่วมพิธีในครั้งนี้เป็นที่ระลึก

ปัจจุบันวัตถุมงคลตลอดจนเครื่องรางของขลังของ หลวงปู่บุญยังล้วนแต่หาพบได้ยาก ซึ่งส่วนใหญ่จะตกอยู่กับชาวบ้านวัดบางจากและใกล้เคียง จึงเป็นที่รักและหวงแหน โดยส่วนใหญ่จะมอบให้ลูกหลานเป็นมรดกตกทอดกันไป จึงไม่ค่อยพบเห็นวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังของหลวงปู่บุญยังแพร่หลายในวงการพระเครื่องทั่วไปมากนัก

คอลัมน์ มุมพระเก่า

ความคิดเห็น