วัตถุมงคล"หลวงปู่ญาท่านเขียน" เพื่อสถานที่ปฏิบัติธรรมป่าช้ายางขี้นก

วัตถุมงคล"หลวงปู่ญาท่านเขียน" เพื่อสถานที่ปฏิบัติธรรมป่าช้ายางขี้นก

ศูนย์ปฏิบัติธรรมป่าช้ายางขี้นก ต.ยางขี้นก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง "หลวงปู่ญาท่านเขียน" เป็นเจ้าสำนักเสมือนศูนย์กลางแห่งความศรัทธาและเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน

"หลวงปู่ญาท่านเขียน" มักกล่าวกับศิษย์อยู่เสมอว่า เมื่อเอ่ยถึงป่าช้า หลายคนอาจตาลุกวาว หลายคนอาจสะอิดสะเอียนและไม่อยากคุยถึงอีก เพราะเป็นที่ฝังศพคนตาย ที่สำคัญผู้คนส่วนใหญ่ต่างเชื่อกันว่าต้องมีผีและวิญญาณอยู่ในนั้นเป็นแน่


เรื่องของป่าช้ามีจารึกในพระไตรปิฎก เล่มที่ 36 พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ 3 ธาตุกถา-ปุคคล บัญญัติปกรณ์ กล่าวถึงการที่ภิกษุถืออยู่ป่าเป็นวัตร 5 จำพวก ความว่า

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุนี้ใดถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะอาศัยความปรารถนาน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลากิเลสอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามนี้อย่างเดียว ภิกษุนี้เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นประมุข เป็นผู้สูงสุด และเป็นผู้ประเสริฐกว่าภิกษุผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร 5 จำพวกเหล่านี้ จบปัญจกนิทเทส

ที่ผ่านมามีความเชื่อกันว่า "ป่าช้ายางขี้นก" เป็นป่าช้าประจำตำบลที่อาถรรพ์ หรือป่าช้าเฮี้ยน มีเสียงเล่าลือกันว่า เมื่อสิบกว่าปี ก่อนที่ หลวงปู่ญา ท่านเขียน จะเดินธุดงค์ ปลีกวิเวก ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมนั้น ชาวบ้านเล่าลือว่าพระภิกษุรูปนี้สติไม่ดีแน่ เพราะกล้ามาอยู่ในป่าช้า ท่านปักกลดอยู่รูปเดียว ไม่คุยไม่สุงสิงกับใคร เมื่อชาวบ้านเห็นวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดสันโดษของท่าน ชาวบ้านยางขี้นกจึงนิมนต์ให้อยู่จำพรรษา ณ วัดในตำบลยางขี้นก เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ ท่านจึงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

หลวงปู่ญาท่านเขียน ปัจจุบันสิริอายุ 85 ปี มีสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรราชทินนามว่า "พระครูสถิตปุญญานุวัฒน์"

ตามประวัติท่านสืบทอดวิชาสาย "สมเด็จลุน" แห่งนครจำปาสัก กับ "ญาครูกรรมฐานเผย" ตั้งแต่ก่อนบวชสมัยเป็นวัยรุ่นท่านเรียนวิชากับครูฆราวาสจอมขมังเวท 2 ท่าน ครูทองลือ และครูปลั่ง สายพราหมณ์เก่ารัชกาลที่ 5 และยังเป็นครูของท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากบวชเดินธุดงค์บำเพ็ญเพียรข้ามไปฝั่งลาว เขมร พม่า ถือปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดมานาน ยึดแบบสมถะ สันโดษ เรียบง่าย

ด้วยความเป็นพระภิกษุอาวุโสที่ชอบอบรมสั่งสอนให้ชาวบ้านปฏิบัติตนอยู่ในศีล ในธรรม "หลวงปู่ญาท่านเขียน" ได้ดำริจัดสร้างศาลาปฏิบัติธรรมขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมใจ แต่ยังขาดทุนทรัพย์อยู่เป็นจำนวนมาก ท่านจึงจัดสร้างวัตถุมงคล เปิดให้ลูกศิษย์ลูกหาและประชาชนทั่วไปร่วมบุญบูชา รายได้เพื่อการบุญอันสำคัญนี้

วัตถุมงคลที่ จัดสร้างขึ้นมาด้วยกันทั้งหมด 4 อย่าง ประกอบด้วย 1.ผงผูกจิต-ผงมัดใจ 2.ตะกรุดยกชีวิตพลิกดวงชะตา 3.ลูกแหง่หรือลูกอมน้ำนมควายแม่ลูกอ่อน 4.เบี้ยแก้จน หรือเบี้ยกินเงิน

"ผง ผูกจิต-ผงมัดใจ" บรรจุในขวดขนาดเล็ก ผงผูกจิต หมายถึง ผูกจิต ผูกมิตร ผูกสมัครพรรคพวก ผูกรัดมัดกาย ผูกจิตมัดใจ ผูกจิตคนทั้งหลายไม่คลายผงมัดใจ หมายถึง มัดใจไม่รู้ลืม มัดให้หลงพะวงหา ห่วงหวงไม่รู้วาย มัดใจไว้ไม่คลาย ผงทั้งหมดเป็นผงสุดยอดตามตำราการสร้างผงพระเกจิ อาจารย์ยุคโบราณ เอาผงมัดจิตมัดใจนี้เพียงอณูเดียว ผสมสร้างพระเป็นหมื่นเป็นแสนๆ องค์มีฤทธิ์ผูกจิตมัดใจ ไม่คลายไม่จาง

"ตะกรุดยก ชีวิตพลิกดวงชะตา" ทำจากหนังกระต่าย ตากแสงจันทร์ เพื่อให้ครบสูตรสุริยันต์จันทรา พลิกดวงกลับชะตาให้ดีขึ้นโดยพลัน ตะกรุดนี้พกติดตัวนำพาพบคำว่า ขึ้นตลอดเวลา ยังมีผลทางจันทรคติ และสุริยคติ แปลว่า ทั้งมืด ทั้งสว่างก็มีความสำเร็จ มีความเจริญ กลับเรื่องที่เลวร้าย ยกดวงยกจิตยกชีวิตเปลี่ยนชะตาให้ขึ้น

"เบี้ยแก้จน หรือ เบี้ยกินเงิน" มีความสำคัญพ่อค้าแม่ขายใช้กินเงินกินทองลูกค้าได้ มั่งมีมากมาย เป็นเจ้าสัวเจ้าแสน โชคลาภ ดับอัปมงคลทุกข์ ระงับทุกข์ภัยพิบัติ ศัตรูปองร้ายให้พ่ายแพ้ภัยตัว ขึ้นโรงขึ้นศาลชนะ สัตว์ร้ายสารพัดกำจัดไป

"ลูกแหง่ หรือลูกอมน้ำนมควายแม่ลูกอ่อน" น้ำนมสายใยจากแม่ไปสู่ลูก น้ำนมคือเลือดเนื้อของแม่ที่กลั่นออกจากอกมาให้ลูกดื่มกิน สูตรเมตตาที่ว่าแรงตำรับหนึ่งเปรียบเทียบความรักเมตตาว่า "รักดังบุตรในอุทรเลือดในอกก็ยกให้ดื่มกินได้" สูตรสร้างเครื่องรางที่ผสมน้ำนมเลือดในอกที่มีตำนานมาแต่โบราณคือ น้ำนมควายแม่ลูกอ่อนเรียกลูกควายที่เพิ่งคลอดจากแม่ว่าลูกแหง่

บูชาได้ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมตำบลยางขี้นก (ป่าช้ายางขี้นก) ต.ยางขี้นก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี

ข่าวพระเครื่อง จาก หนังสือพิมพ์ข่าวสดข่าวสด

ความคิดเห็น