บุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ห้อย พุทธชินราชใบเสมา

บุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ห้อย พุทธชินราชใบเสมา



"ในการแขวนพระเครื่อง นอกจากใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจแล้ว พระเครื่องยัง ช่วยเตือนสติให้ปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงาม ไม่ให้กระทำอะไรที่ผิดศีลธรรม" เป็นความเชื่อส่วนตัวของ "บุญส่ง เตชะมณีสถิตย์" ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร
หนุ่มใหญ่วัย 55 ปี เกิดเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2500 จบการศึกษาปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), หลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 13 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 2549 ผู้ว่าฯ สกลนคร เผยถึงเส้นทางชีวิตรับราชการว่า ชีวิตราชการเคยผ่านตำแหน่งรอง ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ในปีพ.ศ.2552 เป็นรองอธิบดีกรมการปกครอง ก่อนที่จะกลับออกมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ปัจจุบัน

"ชีวิตราชการก็เป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะเรื่องโยกย้ายต้องทำใจ แต่ที่ดีใจก็คืออยู่ที่ไหนก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมของประเทศ เพราะเราเป็นข้าราชการที่กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน"

สำหรับวัตถุมงคลที่ผู้ว่าฯ สกลนคร อาราธนาห้อยประจำ "ผมขอออกตัวก่อนว่า ความจริงชีวิตคนเรานั้นมีความใกล้ชิดกับพระมาตั้งแต่เกิดแทบทุกคน เกิดมาบางคนคุณพ่อคุณแม่ก็ให้พระตั้งชื่อให้ หรือบางรายก็นำไปทำพิธีมอบให้เป็นลูกพระ เพราะจะได้เลี้ยงง่าย ผมก็เช่นกัน เป็นชาวพุทธ ชีวิตจึงอยู่กับพระตั้งแต่เกิด ช่วงเป็นเด็ก 5-6 ขวบ ผมมักจะติดตามมารดาเข้าวัดทำบุญเป็นประจำ เจอหลวงพ่อในวัดอ้อนขอไปเรื่อย จึงเป็นที่มาของเริ่มสะสมพระเครื่องวัตถุมงคลนับถึงปัจจุบัน"

นายบุญส่งกล่าวว่า "ดังนั้น เมื่ออยู่ที่แห่งใด ไปที่ใด ผมจึงมักจะไปหาพระ เพราะเมื่อทำบุญแล้วก็สบายใจ ในชีวิตราชการสิ่งหนึ่งที่ทำตลอดก็คือไปวัด หากมีโอกาสจะทำทุกครั้ง"

ผู้ว่าฯ สกลนครเผยว่า พระเครื่องวัตถุมงคลนั้นก็มีไม่มาก เก็บสะสมบ้างตามสมควร แต่ส่วนใหญ่ได้มาจากมีผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือมอบให้ วัตถุมงคลบางชิ้นได้มอบให้คนอื่นต่อไป แบ่งกันไปชื่นชม เรียกว่าให้พระเท่ากับให้ความดี เป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม

พระเครื่องที่ห้อยคอ ผู้ว่าฯ สกลนครมีอยู่ด้วยกันหลายองค์ อาทิ พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ แต่ที่ห้อยคอติดตัวเป็นประจำคือ พระพุทธชินราชใบเสมา

"พระเครื่องทั้งหมดผมจะติดตัวไว้ตลอดเวลา โดยเฉพาะพระพุทธชินราชใบเสมาจะติดตัวไม่เคยขาด นอกจากนี้ ก็มีเหรียญพระเกจิอาจารย์อื่นๆ อีกมากมาย ที่บอกว่ามากพอสมควรจึงไม่ใช่เป็นเซียนพระ แต่มีไว้บูชาเท่านั้นเอง"

"การห้อยพระก็เหมือนกับการไปเข้าวัด ต่างกันแต่นำติดตัวเท่านั้น เป็นสัญลักษณ์ของความดี เพราะคนที่เข้าวัดถือว่าเป็นคนดี เมื่อคนเข้าวัดย่อมแสดงว่าไปหาสิ่งดีงาม ก็เหมือนคนห้อยพระก็ย่อมต้องการแสดงถึงความชอบความดีงาม ผมเชื่อว่าคนที่ทำดีย่อมได้ดี บุญกรรม บาปกรรมมีจริง ผมเชื่ออย่างนั้น"

หลังจากเข้าประจำงานผ่านมาแล้วหลายพื้นที่ แม้ภารกิจในหน้าที่จะมีมากมาย แต่จิตใจที่เปี่ยมล้นไปด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาทำให้เป็นที่ทราบกันดี ว่า หากนายบุญส่งเดินทางไปราชการในพื้นที่จังหวัดสกลนครมักจะใช้เวลาว่างแวะไป กราบพระเถระหรือปฏิบัติธรรมในแทบทุกที่ที่เดินทางไป

อีกทั้งก่อนนอนจะสวดมนต์พระคาถาชินบัญชรในทุกคืนเพื่อความสงบในจิตใจแก่ตนเอง โดยถือว่าเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของชาวพุทธพึงควรกระทำ

นายบุญส่งบอกเล่าถึงชีวิตครอบครัวว่า "ผมกับครอบครัวจะกราบไหว้พระก่อนนอน เมื่อหยิบพระเครื่องขึ้นแขวน ตั้งนะโม 3 จบ อธิษฐานจิตให้พุทธคุณช่วยคุ้มครอง และเมื่อไปในที่ทำงานจะไหว้พระทุกวันด้วย"

ผลงานของผู้ว่าฯ สกลนคร คือการรณรงค์ให้ทุกครอบครัวลด ละ เลิก อบายมุข และการใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย โดยให้ประชาชนหันมาดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว เช่น รณรงค์ให้งดการเลี้ยงเหล้า สุรา และไม่ให้มีการเล่นการพนันในงานศพ

ข่าวพระเครื่อง จาก หนังสือพิมพ์ข่าวสดข่าวสด

ความคิดเห็น